MENU : กว่าจะเป็นสาธิตนวัตกรรม | เกี่ยวกับสาธิตนวัตกรรม | ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

โรงเรียนสาธิตนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ได้ดำเนินโครงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตามความเห็นชอบของมติสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยเริ่มทำการเปิดรับสมัครนักเรียน ๒ ห้องเรียน ห้องเรียนละ ๓๕ คน เพื่อเข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาที่ ๑ และเปิดการเรียนการสอนในเดือนมิถุนายน ภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๕
แต่เนื่องจากเป็นการเปิดรับนักเรียนปีแรก จึงยังไม่พร้อมในเรื่องของอาคารเรียนถาวร ทางโรงเรียนจึงได้ใช้สถานที่บริเวณชั้น ๑ ของอาคารศึกษาศาสตร์ ๒ เป็นห้องเรียน และสำนักงานธุรการ และต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๕๖ โรงเรียนได้ทำการย้ายอาคารเรียนมาที่อาคารนาฏศิลป์และดุริยางค์ (เดิม) ตรงข้ามอาคารศึกษา-ศาสตร์ ๑ ซึ่งทางคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้งบประมาณในการปรับปรุงเพื่อใช้เป็น
อาคารโรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (ชั่วคราว) ปัจจุบันชื่ออาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ อาคารนี้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นอาคารเรียน ๔ ชั้น มีห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ แล้วเสร็จ พ.ศ.๒๕๕๙ โรงเรียนจึงย้ายเข้ามา
ดำเนินการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๙ เป็นต้นมา ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของประตู ๑ ติดกับหอพักนักศึกษา มีห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันมีอาคารปฏิบัติการนารีรัตนา และสนามกีฬาในร่ม

กว่าจะเป็นสาธิตนวัตกรรม

          ในปลายปี 2535 คณะศึกษาศาสตร์ (ในขณะนั้น) ได้มีการสนทนาถึงการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตที่จะเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาสายครูของคณะต่าง ๆ ในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  คณาจารย์ที่ร่วมสนทนากันในวันนั้นมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยพร วงศ์วรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประภัสสร วงศ์วรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วสันต์ รังรองรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฎฐพงศ์ ชูทัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาพร แพรวพนิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์รชมน สุขชุม อาจารย์ฉวีวรรณ สุทธิช่วย อาจารย์พรทิพย์ สุริยาชัยวัฒนะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประนอม พันธ์ไสว อาจารย์เกียรติศักดิ์ ส่องแสง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งอรุณ รังรองรัตน์

          โรงเรียนสาธิตเริ่มจากการเขียนโครงการนำเสนอคณะและมหาวิทยาลัยจนจัดทำโครงการแล้วเสร็จ  พ.ศ.2537 คณาจารย์ได้ปรึกษาและไปศึกษาดูงานโรงเรียนสาธิตต่าง ๆ  และโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระยะนี้ได้มีอาจารย์เข้ามาร่วมเพิ่ม คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์กอบกุล ปราบประชา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชุมพล พฤทธิพงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรีวินัย  ศรีกนก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริลักษณ์ หาญวัฒนานุกูล อาจารย์รสริน เลปวิทย์ อาจารย์เมธี พิกุลทอง อาจารย์เทียมยศ ปะสาวโน อาจารย์รินระดี ปาปะใน และอาจารย์ชัยอนันท์ มั่นคง เมื่อได้สรุปข้อมูลจากการศึกษาเอกสารและผลการศึกษาดูงานแล้วนำมาจัดทำเอกสารเสนอจัดตั้งโรงเรียนสาธิต แต่ถูกปฏิเสธถึง 2 ครั้ง

          ต่อมาเมื่อถึงสมัยคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิริลักษณ์ หาญวัฒนานุกูล ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในกลุ่มริเริ่มโรงเรียนสาธิตได้นำเรื่องการจัดทำโรงเรียนสาธิตมาทบทวนและเตรียมการใหม่ แต่ช่วงพ.ศ. 2548 มีการควบรวมคณะศึกษาศาสตร์และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน ดังนั้นการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจึงแทบไม่มีความคืบหน้า ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2552 กระบวนการจัดตั้งโรงเรียนได้มีการดำเนินการต่อ ผู้ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งคือ อาจารย์ชัยอนันต์ มั่นคง เป็นผู้เตรียมเอกสารและจัดทำสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการการเรียนการสอนจนเห็นชอบในหลักการตั้งโรงเรียนและให้ดำเนินการขั้นต่อไปได้ แต่เรื่องก็หยุดชะงักอีกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้งคณบดีใหม่

          ต่อมาเมื่อ รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ ได้รับเลือกเป็นคณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2553 จึงมีการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนสาธิตต่อ ในคราวนี้ได้รับการสนับสนุนจากอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์จึงมีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาขึ้นหลักสูตรเน้นการสอนตามแนวปรัชญา Progressive มีเนื้อหาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

          โรงเรียนได้รับชื่อว่า “โรงเรียนสาธิตนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” ในการนี้ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ได้กรุณาให้คติพจน์ประจำโรงเรียนว่า “รู้คิด รู้ทำ รู้ผิดชอบชั่วดี”

          ปลายปี พ.ศ. 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถูกน้ำท่วมสูงถึง 150 เซนติเมตร ขั้นตอนในการนำเสนอสภามหาวิทยาลัยจึงหยุดชะงักชั่วคราว เพราะคณะมีภาระต้องซ่อมแซมอาคารอย่างเร่งด่วน

          วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 สภามหาวิทยาลัย มีมติจัดตั้งโรงเรียนสาธิตนวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา ในระยะนี้การซ่อมแซมอาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารเรียนของนักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ชั้นล่างและลานอเนกประสงค์จึงถูกวางแผนให้เป็นอาคารชั่วคราวของนักเรียนโรงเรียนสาธิตนวัตกรรมฯ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มี 2 ห้องเรียน ห้องที่ 1 มีนักเรียน 29 คน ห้องที่ 2 มีนักเรียน 28 คน, ห้องธุรการ 1 ห้อง ห้องอาหาร 1 ห้อง และสร้างห้องน้ำสำหรับเด็กชาย-หญิง อย่างละ 2 ห้อง ในระยะนี้ ห้อง Computer ขอใช้ห้องของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ห้องปฏิบัติการชั้น 2 ช่วงจัดเตรียมความพร้อมของห้องเรียนได้นักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ 5 ปี และนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามาช่วยเตรียมการ โรงเรียนสาธิตนวัตกรรมเปิดเทอมพร้อมกับมีเพลงมาร์ชประจำโรงเรียน แต่งและขับร้องโดย อาจารย์เมธี พิกุลทอง    

          วันที่ 4 มิถุนายน 2555 เป็นวันแรกของการเปิดภาคเรียน ผู้อำนวยการคนแรก คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐปิ่นปฐมรัฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา แสงเดือน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งอรุณ รังรองรัตน์ ครูคนแรกของโรงเรียนคือ ครูวารี กาลศิริศิลป์ ครูภาษาอังกฤษเป็นชาวอินเดียชื่อ Vip Pin ครูคนอื่นที่เข้ามาปฏิบัติงานตามมาคือ คุณครูสุพจน์ ลานนท์ คุณครูอารยา เชื้อทอง คุณครูนันทภรณ์ ประณีตพลกรัง คุณครูกันยารัตน์ แก้วหนูนวล คุณครูช่วยสอนขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คือ คุณครูวิภาดา นามบ้าน ในระยะแรกคณะคหกรรมศาสตร์จัดทำอาหารกลางวันให้ เมื่อมีชั้นเรียนมากขึ้น ขณะที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารถาวรของโรงเรียนนั้น ทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงอาคาร 4 ชั้นตรงข้ามอาคารศึกษาศาสตร์ 1 ให้โรงเรียนดำเนินการเรียนการสอนไปพลาง

          อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 เป็นอาคารถาวรของโรงเรียนที่สร้งใน พ.ศ. 2558  ซึ่งเป็นปีที่สเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรณษา ซึ่งเป็นปีที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลองถวายพระองค์ท่าน อาคารเฉลิมพระเกียรติฯจึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นถาวรสถานที่แสดงถึงความจงรักภัคดี และได้เปิดใช้เมื่อปีการศึกษา 2559  อาคารนี้เปิดใช้เป็นห้องเรียนครบ 6 ชั้นปี จำนวน 14 ห้องเรียน ห้องนวัตกรรม 2 ห้อง ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ 1 ห้อง ห้องปฏิบัติการนาฎศิลป์ 1 ห้อง ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 2 ห้อง FAB LAB 1 ห้อง ห้องสหกรณ์ 1 ห้อง ห้องสำนักงานผู้อำนวยการ 1 ห้อง ห้องประชุมเล็ก 1 ห้อง ห้องอาหาร 1 ห้อง ซึ่งเป็นอาคารเล็กเชื่อมกับอาคารใหญ่

          ในปี พ.ศ. 2558 ได้เปิดอาคารกิจกรรมอีก 1 หลัง มี  2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องอเนกประสงค์ ชั้นบนเป็นห้องปฏิบัติการคหกรรมและห้องปฏิบัติการศิลปะ อาคารสนามกีฬาในร่ม 1 อาคาร ใช้เรียนพละศึกษา และกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี           โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีสถานะเทียบเท่าภาควิชาหนึ่งของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม นักเรียนของเราจึงมีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรมกับคณะต่างๆ และมหาวิทยาลัยเสมอ นักเรียนมีโอกาสได้เรียนกับครูฝึกสอนทั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยอื่น และมหาวิทยาลัย De la Salle ประเทศฟิลิปินส์

เกี่ยวกับโรงเรียนสาธิตนวัตกรรม

          โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านภาษา

          ด้วยการเป็นโรงเรียนสาธิต จึงทำหน้าที่เป็นสถานฝึกปฏิบัติทางการศึกษา เป็นสถานที่วิจัยกระบวนการเรียนการสอน ผลิตสื่อการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ เป็นสถานที่ฝึกการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งฝึกการปฏิบัติงานของนักศึกษา เพื่อที่จะเป็นครู อาจารย์ และเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ยังมุ่งหวังที่จะพัฒนาโรงเรียนสาธิตนวัตกรรมให้เป็นโรงเรียนตัวอย่างด้านการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการโรงเรียน

          การจัดการเรียนการสอนนั้น มุ่งเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการนำทฤษฎีทางการศึกษาที่ผ่านการวิจัยอย่างมีระบบมาใช้ในการเรียนการสอน สอนให้นักเรียนรู้จักการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง รู้จักการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างเป็นสุข และให้ความสำคัญในด้านการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักเรียนทั้งนี้จะมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ

          นวัตกรรม หมายถึง การนำความคิด การกระทำใหม่ ๆ กระบวนการใหม่ ๆ หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ มาใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ประหยัดเวลาและงบประมาณ ซึ่งลักษณะของความเป็นนวัตกรรม มีดังนี้

  1. เป็นสิ่งใหม่ ที่ไม่เคยมีผู้ใดคิดมาก่อน มีความเชื่อว่าสิ่งนั้นสามารถช่วยแก้ปัญหาหรือช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้
  2. วิจัย พัฒนา และปรับปรุงกระบวนการจนได้แนวทางการกระทำใหม่
  3. ความคิด การกระทำ สิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่แล้วในงานอื่น นำมาใช้ ณ ที่นี้ได้อย่างมีคุณค่า
  4. ความคิด การกระทำ สิ่งประดิษฐ์ ที่เคยใช้แล้ว ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเหมาะสมที่จะนำมาใช้

อย่างไรก็ตาม ความคิด การกระทำ และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้และเป็นที่ยอมรับเป็นนวัตกรรมนั้น ต้องผ่านกระบวนการ 3 ประการ คือ 1. ประดิษฐ์คิดค้น (Invention) 2. การพัฒนา (Development) 3. การเผยแพร่ (Implementation) เมื่อมีการเผยแพร่ใช้เป็นที่กว้างขวางแล้ว ความเป็นนวัตกรรมก็จะหมดไปสำหรับ ณ ที่นั้น

          จากหลักการดังกล่าวข้างต้น โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม ได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เช่น แนวคิดเรื่องการจัดประสบการณ์ตรงให้นักเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้เร็ว ถูกต้อง และมีความคงทนในการจำ จึงนำนักเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องและกำหนดไว้ในหลักสูตรตามแหล่งการเรียนรู้ใกล้โรงเรียน เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และศูนย์วิจัยข้าว เป็นต้น

          การนำเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ Table Touch มาใช้เป็นสื่อในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ แนวคิดเรื่อง STEM นำมาใช้ในการทำโครงงาน หรือ การนำเทคโนโลยี FAB LAB มาให้นักเรียนรู้จักการออกแบบและสร้างสรรค์งาน 3 มิติ เป็นต้น

          โรงเรียนสาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะเป็นผู้นำในการนำความคิดใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ การวิจัยพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ การประดิษฐ์สื่อการเรียนการสอน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ เพื่อบ่มเพาะนักเรียนให้เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยมีความคาดหวังว่าการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการจนมีประสิทธิภาพเพื่อดำเนินการเผยแพร่ต่อไป

ผู้ดำรงตำเเหน่งผู้อำนวยการ

1. รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ   ปิ่นปฐมรัฐ (คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมในขณะนั้น)
รักษาราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ถึง ๑๖ มกราคม ๒๕๕๗

2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา   แสงเดือน
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มกราคม ถึง ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพร  บุญส่ง (คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมในขณะนั้น)
รักษาราชการเเทนผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๕ พฤศจิการยน ๒๕๕๗ ถึง ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘

4.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งอรุณ รังรองรัตน์
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ ถึง ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

5.นายพงศ์พิชญ์   ต่วนภูษา  (รองอธิการบดี)
รักษาราชการเเทนผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ถึง ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

6.ดร.รสริน   เจิมไธสง
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ถึง ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒

7.นายนิติ   วิทยาวิโรจน์
รักษาราชการเเทนผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ถึงปัจจุบัน